ตำนาน

สกลนคร..เมืองโบราณ

จังหวัดสกลนคร มีพัฒนาการทางประวัติศาสตร์มาตั้งแต่สมัยก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี สมัยอยุธยา จนถึงสมัยรัตนโกสินทร์ “หอมรดกไทย” ซึ่งสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม จัดทำขึ้นเนื่องในอภิลักขิตสมัย ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ทรงพระชนมพรรษา ครบ 6 รอบ ใน 5 ธันวาคม 2542 ได้กล่าวถึงประวัติความเป็นมาของจังหวัดสกลนครไว้ดังนี้

ยุคก่อนประวัติศาสตร์

ในจังหวัดสกลนครมีแหล่งโบราณคดีขนาดใหญ่ที่มีความสำคัญและสัมพันธ์กับวัฒนธรรมบ้านเชียง คือ ในเขตอำเภอสว่างแดนดิน และบริเวณพื้นที่ระหว่างลำห้วยยาม กับลำห้วยปลาหาง ระหว่างเขตอำเภอสว่างแดนดินติดต่อกับเขตอำเภอพังโคน โดยมีการขุดพบเครื่องปั้นดินเผาในเขตอำเภอสว่างแดนดิน และบริเวณใกล้เคียง มีอายุประมาณ 5,600 ปี มาแล้ว และยังพบหลักฐานทางโบราณคดีอื่นๆ อาทิโครงกระดูก เครื่องประดับสำริด ลูกปัดแก้ว เครื่องมือเหล็ก ภาชนะลายเชือกทาบ และเครื่องปั้นดินเผาลายเขียนสีเป็นจำนวนมาก ในอำเภอพังโคน อำเภอวาริชภูมิ อำเภอส่องดาว อำเภอพรรณานิคม และ อำเภอเมืองสกลนครด้วย นอกจากนี้ยังมีหลักฐานที่แสดงถึงการตั้งถิ่นฐานของมนุษย์ในยุคก่อนประวัติศาสตร์ คือศิลปะถ้ำ และผาหินในจังหวัดสกลนคร ที่สำคัญมีอยู่ 3 แห่ง แห่งด้วยกันคือ ถ้ำผาลาย ภูผายล อำเภอเมือง ถ้ำม่วง อำเภอเต่างอย ถ้ำภูผักหวาน ซึ่งเป็นผลงานการแกะสลักภาพต่างๆ บนผาหิน สันนิษฐานว่าจะมีอายุประมาณ 3,500 ปีมาแล้ว

ยุคก่อนประวัติศาสตร์ สมัยทวารวดี  

พัฒนาการทางประวัติศาสตร์ของเมืองสกลนครขาดความต่อเนื่องจากสมัยก่อนประวัติศาสตร์นานเท่าใดไม่ปรากฏ มาปรากฏอีกครั้งในสมัยทวารวดีเป็นต้นมา ตามหลักฐานของเสมาหินที่พบในเขตจังหวัดสกลนคร เช่น เสมาหิน บ้านหนองยางตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง เสมาหินที่บ้านเตาไห ตำบลทรายมูล อำเภอสว่างแดนดิน เสมาหินที่บ้านท่าวัดตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ซึ่งเป็นโบราณวัตถุที่มีมาก่อนสมัยลพบุรี ต่อมาจนถึงสมัยลพบุรี สมัยอยุธยา จนถึงปัจจุบัน
วัดบ้านม้า ตำบลพันนา อำเภอสว่างแดนดิน ยังไว้ในดินบริเวณพระอุโบสถเก่า ทำด้วยหินทรายแดง 25 เซนติเมตร กว้าง 63 เซนติเมตร ยาว 1.5 เมตร ด้านหนึ่งแกะสลักเป็นรูปคนแบบเด็กอยู่ในซุ้มเรือนแก้ว วัดกลางศรีเชียงใหม่ บ้านท่าวัด ตำบลเหล่าปอแดง อำเภอเมือง ใบเสมาปักไว้ทั้ง 8 ทิศ มีจำนวน 16 ใบ แกนกลางแกะเป็นรูปหม้อน้ำทรงสูง วัดเชิงดอยเทพรัตน์ บ้านม่วง ตำบลห้วยยาง อำเภอเมือง เป็นหินทรายแดงลักษณะ เป็นแผ่นหินธรรมชาติ ไม่มีการถากโคนและสลักใดๆ ปักอยู่ตามเนินดิน สิมเก่าบ้านโพนงาม และบ้านโพนบก ตำบลบ้านแป้น อำเภอโพนนาแก้ว ใบเสมาทำด้วยหินทรายแดง มีการสลักเป็นร่องและฐานบัว บ้านหนองยาง ตำบลพังขว้าง อำเภอเมือง ใบเสมาฝังอยู่ในที่ดินของชาวบ้าน เป็นใบเสมาที่ไม่มีการแกะสลักใดๆ

สมัยอยุธยา

สมเด็จพระรามาธิบดีที่ 1 (พระเจ้าอู่ทอง) ได้ตกลงแบ่งอาณาเขตระหว่างอาณาจักรล้านช้างกับอยุธยา ตามแนวภูเขาดงพญาพ่อ (ดงพญาไฟ) และภูสามเศร้า (ภูเขาเพชรบูรณ์) ต่อมาในปีพ.ศ 2250 อาณาจักรล้านช้างเกิดความแตกแยกออกเป็น 3 ส่วนคือ หลวงพระบาง เวียงจันทน์ และจำปาศักดิ์ ทำให้เกิดการแยกตัวของเจ้านาย และขุนนางพร้อมด้วยสมัครพรรคพวก ไปตั้งหลักแหล่งอยู่ใหม่นอกอาณาเขตทั้งสาม ดังกล่าวแล้วคือไปอยู่ดินแดนฝั่งขวาของแม่น้ำโขง ตั้งแต่จังหวัดเลย หนองบัวลำภู หนองคาย อุดรธานี สกลนคร ไปจนถึงนครพนม ดังนั้นการตั้งหลักแหล่งของชุมชนลาว จึงได้อาศัยแหล่งชุมชนเดิมที่อยู่มาก่อนแล้วตั้งแต่สมัยพุทธศตวรรษที่ 18-19 และ และได้มีการสร้างศาสนสถาน หรือดัดแปลงศาสนสถานที่มีอยู่ก่อนแล้วให้มีศิลปะแบบล้านช้างผสมอยู่ด้วย เช่น พระธาตุเชิงชุม มีบัวย่อเป็นเหลี่ยมขององค์พระธาตุ ซึ่งเป็นศิลปะแบบล้านช้าง การใช้อักษรไทยน้อย (ลาว) มีแพร่หลายอยู่ทั่วไป เช่นการจารึกพระธรรมในใบลาน หนังสือนิทานพื้นบ้าน ตำรายาที่จารึกในใบลาน เป็นต้น

สมัยรัตนโกสินทร์

เมืองหนองหาน (ชื่อเดิมของจังหวัดสกลนคร) ได้กลายเป็นเมืองร้างไปตั้งแต่เมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐาน ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ได้โปรดเกล้าฯ ให้ อุปฮาด (ตำแหน่งรองจากเจ้าเมืองในภาคอีสานสมัยต้นรัตนโกสินทร์) เมืองกาฬสินธุ์พร้อมครอบครัวไพร่พล มาตั้งรักษาพระธาตุเชิงชุม ณ ตำบล พระธาตุเชิงชุม และหมู่บ้านอื่นๆ อีกหลายตำบล เมื่อมีผู้คนมาอยู่มากขึ้นพอจะตั้งเมืองได้จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านธาตุเชิงชุมขึ้นเป็น “เมืองสกลทวาปี” เมื่อปีพ.ศ 2329 ตั้งให้อุปฮาดเมืองกาฬสินธุ์ เป็นพระธานีเจ้าเมืองสกลนครทวาปีคนแรก ในรัชสมัย พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อปีพ.ศ 2369 เกิด เกิดกบฏเจ้าอนุวงศ์เวียงจันทน์ กองทัพไทยยกกำลังขึ้นไปปราบ โดยมีพระยาราชสุภาวดีผู้เป็นแม่ทัพ ได้มาตรวจราชการที่เมืองสกลนครทวาปีพบว่า เจ้าเมืองไม่เอาใจใส่ต่อราชการจึงให้ประหารชีวิตเสีย เมื่อปราบกบฏเจ้าอนุวงศ์เสร็จสิ้นลงแล้ว ก็ได้กวาดต้อนผู้คนจากเมืองต่างๆ รวมทั้งเมืองสกลนครทวาปีไปอยู่เมืองกบินทร์บุรี เมืองประจันตคาม คงเหลือบางส่วนไว้รักษาพระธาตุเชิงชุม ในปีพ.ศ 2378 อุปฮาด ราชวงศ์ และเท้าชินผู้เป็นน้องได้พาสมัครพรรคพวกมาพึ่งพระบรมโพธิสมภาร พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัวได้โปรดเกล้าฯ ให้มาตั้งภูมิลำเนาที่เมืองสกลนครทวาปีได้ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ 2380 เจ้าราชวงศ์ (ดำ) ได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นเจ้าเมืองสกลนครทวาปี ในปีพ.ศ 2381 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนนามเมืองสกลนครทวาปี เป็น “เมืองสกลนคร” และแต่งตั้งให้ราชวงศ์ (ดำ) เป็นพระยาประเทศธานีในปีพ.ศ 2387 โปรดเกล้าฯ ให้ท้าวโฮงกลาง พระเสนาณรงค์ เป็นเจ้าเมืองพรรณานิคม ยกบ้านพังพร้าวเป็นเมืองพรรณานิคม ตั้งเมืองกุสุมาลย์มณฑลให้ขึ้นกับเมืองสกลนครให้เพี้ยเมืองสูงเป็น หลวงอารักษ์ อาญาเจ้าเมืองกุสุมาลย์มณฑล ในปีพศ 2393 โปรดเกล้าฯ ให้เท้าโถงเจ้าเมืองมหาชัย เป็นอุปฮาด ให้ท้าวเหม็น น้องชาย อุปฮาด (โถง) เป็น ราชบุตร เมืองสกลนคร
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้มีการจัดตั้งเมืองต่างๆ ขึ้นหลายเมืองในจังหวัดสกลนคร เมืองอากาศอำนวย เมืองวานรนิวาส เมืองโพธิไพศาล ต่อมาได้เกิดเพลิงไหม้ในเมืองสกลนคร เมื่อปีพ.ศ 2396 ได้รับความเสียหายมาก ยังคงเหลืออยู่แต่องค์พระธาตุเชิงชุม วัดพระธาตุศาสดาราม เจ้าเมืองพาผู้คนออกไปตั้งบ้านเรือนอยู่ที่ดงบาก ทางจากเมืองเดิมออกไป 50 เส้น อีก 5 ปีต่อมาจึงได้อพยพกลับมาอยู่ที่เดิมเมื่อปีพ.ศ 2401
ในปีพศ. 2406 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพหวาเป็นเมืองภูวดลสอาง แล้วให้ราชบุตร (เหม็น) เป็นพระภูวดลบริรักษ์ เป็นเจ้าเมืองโปรดเกล้าฯ ให้ยกบ้านโพนสว่างหาดยาวริมน้ำปลาหางเป็นเมืองสว่างแดนดิน โดยให้เท้าเทพกัลยา หัวหน้าไทยย้อยเป็นเจ้าเมือง มีบรรดาศักดิ์เป็นที่พระประสิทธิ์ศักดิ์ประสิทธิ์ขึ้นกับเมืองสกลนคร ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2410 ได้โปรดเกล้าฯ ให้ตั้ง ปิด บุตรอุปฮาดตีเจ้า (ดำสาย) เป็นราชวงศ์ และให้ท้าวลาด บุตรอุปฮาด (โถง) เป็นราชบุตรเมืองสกลนคร แทนตำแหน่งเดิมที่ว่างอยู่
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เกิดการจราจลจีนฮ่อ เมื่อปีพ.ศ. 2418 จึงได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยามหาอำมาตย์ (ชื่น) เป็นแม่ทัพคุมกองทัพจากกรุงเทพฯ กับกำลังจากหัวเมืองลาวไปรวมพลที่เมืองหนองคาย เมืองสกลนครได้ส่งกำลังไปช่วย จำนวน 1000 คน โดยมีราชวงศ์ (ปิด) กับพระศรีสกุลวงศ์ (โง่นคำ) เป็นหัวหน้าร่วมกันปราบปรามจีนฮ่อจนสงบราบคาบ ต่อมาเมื่อปีพ.ศ. 2419 เมืองสกลนครเกิดโรคระบาดร้ายแรงเดิน อุปฮาด ( โถง) กับราชบุตร (ล าด) ถึงแก่กรรมทางราชการจึงได้แต่งตั้งราชวงศ์ (ปิด) เป็นผู้รักษาราชการเมืองในปีต่อมาจึงได้โปรดเกล้าฯ ให้เป็นพระยาประจันตประเทศธานีเจ้าเมืองสกลนคร
เมื่อมีการปฏิรูปการปกครองมาเป็นแบบเทศาภิบาล (มณฑล) ทั่วประเทศเจ้าเมืองมาจากส่วนกลาง ยกเลิกการปกครองแบบเก่าที่ใช้ระบบอาญาสี่ เมื่อปีพ.ศ. 2435 ได้โปรดเกล้าฯ ให้พระยาสุริยเดช (กาจ) ไปเป็นข้าหลวงเมืองสกลนครคนแรกในปีพ.ศ. 2439 ได้โปรดเกล้าฯ ใช่เมืองวาริชภูมิ ซึ่งเดิมขึ้นอยู่กับเมืองหนองหาร มาขึ้นกับเมืองสกลนคร ในปีพ.ศ 2440 ให้เมืองวานรนิวาส เป็นอำเภอวานรนิวาส และยกเมืองวาริชภูมิเป็นอำเภอวาริชภูมิ ในปีพ.ศ 2444 เกิดกบฏผีบุญในท้องที่เมืองสกลนครจึงได้มีใบบอกขอกำลังทหารจากมณฑลอุดร มาช่วยปราบปรามกบฏ ผีบุญจนสงบราบคาบ
ในปีพ.ศ 2445 ได้โปรดเกล้าฯ ให้แต่งตั้ง และเปลี่ยนแปลง ระเบียบการปกครอง โดยผสมผสานระเบียบการปกครองเดิมเข้ามาสู่ ระเบียบการปกครองใหม่ ดังนี้
เมืองสกลนคร รวมทั้งบรรดาเขตแขวงต่างๆ ให้เรียกว่าบริเวณเขตสกลนคร
ข้าหลวงประจำเมืองให้เรียกว่าข้าหลวงประจำบริเวณ
เมืองต่างๆ ให้เรียกว่าอำเภอให้เจ้าเมืองเป็นนายอำเภอ ให้อุปฮาด เป็นปลัดอำเภอ ให้ราชวงศ์เป็นสมุหอำเภอ ให้ราชบุตรเป็นเสมียนอำเภอ สำหรับพระยาประจันประเทศธานี เจ้าเมืองเดิม ให้เป็นที่ปรึกษาราชการของข้าหลวงบริเวณ
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนคำว่าเมืองมาเป็นจังหวัด เมื่อปีพ.ศ 2459 และในปีพ.ศ 2462 ได้โปรดเกล้าฯ ให้สร้างสนามบินขึ้นในเขตอำเภอเมือง
ในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้เปลี่ยนชื่อตำแหน่งข้าหลวง มาเป็นตำแหน่งผู้ว่าราชการจังหวัดเมื่อปีพ.ศ 2474 และข้าหลวงคนที่ 7 ของจังหวัดสกลนครคือ พระตราษบุรี สมุทรเขต จึงได้เป็นผู้ว่าราชการจังหวัดสกลนครคนแรก

ขอขอบคูณข้อมูลจาก : หอมรดกไทย สำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม

แชร์ไปที่

Facebook
Twitter
Email

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น