เที่ยวสกลนคร

สกลนครในตำนานอุรังคนิทาน

ความเป็นมาของเมืองสกลนครยังมีปรากฏอยู่ในตำนานพงศาวดารเมืองสกลนคร ฉบับพระยาประจันตประเทศธานี (โง่นคำ) ตอนที่ 1 แยกวงศ์ตระกูลมาจากเมืองอินทปัฐ นำมาจากตำนานอุรังคนิทานหรือตำนานพระธาตุพนม กล่าวว่า ขุนขอม ราชนัดดาแห่งเจ้าเมืองอินทปัฐนคร ได้อพยพพาบ่าวไพร่ราษฎรของตนมาสร้างบ้านเมืองริมหนองหานหลวง บริเวณท่านางอาบ ขนานนามเมืองว่า “หนองหานหลวง” โดยขุนขอมเป็นเจ้าเมืองขึ้นกับเมืองอินทปัฐนคร ต่อมามีราชบุตรหนึ่งคนชื่อ “สุรอุทกกุมาร” เมื่อสุรอุทกกุมารประสูตินั้นมีสิ่งมหัศจรรย์เกิดพร้อมกัน 2 ประการ คือ ถือพระขรรค์กำเนิดออกมาด้วย และเกิดน้ำพุงขึ้นใกล้บริเวณที่ตั้งเมือง

เมื่อพระชนมายุ 15 พรรษา ขุนขอมผู้เป็นบิดาถึงแก่ทิวงคต เหล่าข้าราชการเสนาอำมาตย์จึงพร้อมกันอัญเชิญขึ้นครองบ้านเมืองแทนบิดา เป็นพญาสุรอุทก ต่อมามีโอรส 2 องค์ คือ “เจ้าภิงคาร” และ “เจ้าคำแดง” วันหนึ่งพญาสุรอุทกได้พาไพร่พลออกตรวจเขตแดนจนถึงปากน้ำมูลนที ต่อเขตแดน กับเมืองอินทปัฐนคร เสนาข้าราชการได้ทูลว่า ดินแดนนี้ขุนขอมผู้เป็นบิดาและเจ้าเมืองอินทปัฐนครมอบให้ “ธนมูลนาค” เป็นผู้ปกปักรักษาไว้ พญาสุรอุทกทราบดังนั้นก็กริ้วว่า เหตุใดจึงมอบให้เดรัจฉานดูแลจึงประสด์แสดงอำนาจและอิทธิฤทธิ์โดยชักพระขรรค์ ไต่ไปบนผืนน้ำ ธนมูลนาคเห็นดังนั้นก็โกรธเป็นกำลังจึงแสดงฤทธิ์บ้าง เมื่อทั้งสองได้แสดงฤทธิ์แล้วก็แยกจากกันไป แต่ธนมูลนาคผูกใจเจ็บจึงพาบริวารออกติดตามพญาสุรอุทกไปจนถึงเมืองหนองหานหลวง เนรมิตตนและเหล่าบริวารเป็น “ฟานด่อน” ขาวบริสุทธิ์เดินผ่านเมืองไปทางทุ่งโพธิ์สามต้น ชาวเมืองทั้งหลายจึงกราบทูลให้ทรงทราบ พญาสุรอุทกจึงมีรับสั่งให้นายพรานทั้งหลายล้อมจับมาถวาย ถ้าจับเป็นไม่ได้ให้จับตาย นายพรานรับคำสั่งแล้วจึงออกติดตาม

บริวารของธนมูลนาคจึงกลับร่างหายไปเหลือเพียงธนมูลนาคตัวเดียว ทำทีหลอกล่อนายพรานออกจากร่างฟานดอน (อีกงเผือก) ที่ตนเนรมิต แล้วใช้อิทธิฤทธิ์ทำให้ฟานด่อน (อีเก้งเผือก) ตัวโตเท่าช้างสาร นายพรานไม่สามารถแบกหามไปได้จึงทำการชักลาก” มาเมื่อหมดกำลังจึงไปกราบทูล พญาสุรอุทกจึงป่าวประกาศให้ราษฎรไปแล่เนื้อฟานด่อนมาบริโภค ฝ่ายธนมูลนาคยังไม่หายโกรธจึงรวมพลทำฤทธิ์ มุดลงไปใต้น้ำหนอหานหลวงในช่วงตกดึก ธนมูลนากับเหล่าบริวารได้ขุดแผ่นดินเมืองให้ถล่มลงเป็นน้ำอันเดียวก้บหนองหานหลวง แล้วตรงเข้าจับพญาสุรอุทกผูกบ่วงบาศลากลงไปแม่น้ำโขง” เมื่อพญาสุรอุทกสิ้นใจแล้ว ธนมูลนาคจึงนำศพไปถวายเจ้าเมืองอินทปัฐซึ่งเป็นเชื้อสายวงศ์เดิม

         ส่วนเมืองหนองหานหลวง เจ้าภิงคารและเจ้าคำแดงและชาวเมืองที่รู้สึกตัวก่อน จึงพาบริวารมาสร้างเมืองใหม่ที่บริเวณ “ภูน้ำลอดเชิงชุม” เพราะป็นชัยภูมิที่ดี และยังเป็นสถานที่ชุมนุมรอยพระพุทธบาทเจ้าภิงคารผู้เป็นพี่ขึ้นครองเมืองได้นามว่า “พญาสุวรณภิงคาร” ต่อมาได้อภิเษกกับ “นางนารายณ์เจงเวง” ธิดาเจ้ากรุงอินทปัฐนคร ส่วนเจ้าคำแดงเป็นผู้น้องได้ครองเมืองหนองหานน้อย” ได้นามว่า “พญาคำแดง” ในสมัยที่พญาสุรรณภิงคารปกครองเมืองหนองหานหลวง มีการสร้างพระธาตุเชิงชุมครอบทับสถานที่ประทับชุมนุมรอยพระพุทธบาท และสร้างปราสาทเพ็ก ปราสาทนารายณ์เจงเวง นอกจากนี้พญาสุวรรณภิงคารยังได้มีส่วนร่วมสร้างพระธาตุพนม เพื่อประดิษฐานพระพุทธอุรังคธาตุ ร่วมกับพญาคำแดง เมืองหนองหานน้อย พญาจากเมืองศรีโคตรบูรณ์ เมืองอินทปัฐนคร และพญาเมืองจุลนีพรหมทัตอีกด้วย

เมื่อสิ้นพญาสุวรรณภิงคาร อยู่มาปีหนึ่งเกิดทุพภิกขภัยฝนแล้งต่อกันถึง 7 ปี ราษฎรไม่ได้ทำนาจนเกิดความอดอยากกอัตคัดขัดสนข้าวปลาอาหาร ราษฎรจึงรวมกันทำนปีนาแซงตามริมหนองหาน แต่ไม่สู้ได้ผลพอแก่การเลี้ยงชีพโดยทั่วกัน จึงพากันอาศัยขุดเผือกมันขุดกลอยก็หมดเกิดไม่ทัน จนไม่ทนทานอยู่ได้ เจ้าเมืองกรมการชาติขอมในเมืองหนองหานหลวงจึงพากันอพยพครอบครัวกลับไปยังเมืองอินทปัฐเสียหมดชาวขอมจึงไม่เหลืออยู่ ทำให้เมืองหนองหานหลวงกลายเป็นเมืองร้าง

ที่มาข้อมูล : หนังสือประวัติศาสตร์ท้องถิ่นสกลนคร
สพสันติ์ เพชรคำ
ผู้เขียน

แชร์ไปที่

Facebook
Twitter
Email

Similar Posts

One Comment

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น