News | เที่ยวธรรมะ | เที่ยวสกลนคร

ชีวประวัติ…เสาหลักแห่งวงศ์กรรมฐาน องค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่แบน ธนากโร

ขอน้อมกราบแทบเท้าองค์หลวงปู่ครับ
องค์พ่อแม่ครูอาจารย์หลวงปู่แบน ธนากโร วัดดอยธรรมเจดีย์ อ.โคกศรีสุพรรณ จ.สกลนคร

ประวัติ หลวงปู่แบน ธนากโร

“พระภาวนาวิสุทธิญาณเถร” หรือ “หลวงพ่อแบน ธนากโร” แห่งวัดดอยธรรมเจดีย์ จ.สกลนคร มีนามเดิมว่า สุวรรณ กองจินดา เกิดเมื่อวันที่ ๒ กรกฎาคม พุทธศักราช ๒๔๗๑ ตรงกับวันเสาร์ ขึ้น ๑๔ ค่ำ เดือน ๘ ปีมะโรง ณ บ้านหนองบัว ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โยมบิดา-โยมมารดาชื่อ นายเล็ก และนางหลิม กองจินดา ครอบครัวประกอบอาชีพทำสวนทำไร่

การศึกษาเบื่องต้น

ครั้นพอถึงเกณฑ์เข้าโรงเรียนแล้ว โยมบิดา-โยมมารดาได้ส่งให้ท่านเข้าศึกษาในโรงเรียนประจำหมู่บ้าน จนจบประถมศึกษาปีที่ ๔ ครั้นจบการศึกษาแล้ว ท่านก็ได้ช่วยบิดามารดาทำสวนทำไร่ เพราะในเขตจังหวัดจันทบุรีนั้น อาชีหลักคือทำสวนเงาะ สวนทุเรียน

การอุปสมบท

ครั้นเมื่ออายุ ๒๑ ปี หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านได้เข้าไปศึกษาข้อวัตรปฏิบัติกับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ณ วัดทรายงาม อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี ซึ่งเป็นวัดประจำหมู่บ้านของท่าน พอทราบถึงข้อวัตรปฏิบัติแล้ว หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ จึงได้นำท่านเข้ารับการอุปสมบทเป็นพระภิกษุในทางพระพุทธศาสนา เมื่อวันที่ ๒๔ พฤษภาคม พ.ศ. ๒๔๙๓ ณ วัดเกาะตะเคียน ตำบลหนองบัว อำเภอเมือง จังหวัดจันทบุรี โดยมีพระอมรโมลี เป็นพระอุปัชฌาย์, พระครูพิพัฒน์พิหารการ เป็นพระกรรมวาจาจารย์ และพระเม้า เป็นพระอนุสาวนาจารย์

อยู่ศึกษาธรรมกับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ

ภายหลังจากที่ท่านบวชบวชแล้วก็มาอยู่ปฏิบติธรรมกับ หลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ ที่วัดทรายงาม จังหวัดจันทบุรี และก็ได้ติดตามหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ มาอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร จนกระทั่งหลวงปู่กงมาได้มรณภาพลง ครั้นทำการถวายเพลิงศพของหลวงปู่กงมาแล้ว หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านก็ทำหน้าที่เป็นเจ้าอาวาสวัดดอยธรรมเจดีย์ต่อจากหลวงปู่กงมาผู้เป็นอาจารย์ รักษาข้อวัตรปฏิบัติอย่างเด็ดเดี่ยว รวมทั้งทำหน้าที่อบรมพระภิกษุสามเณร ญาติโยมที่มาขออยู่ปฏิบัติธรรม ให้มีศีลธรรมประจำใจ

เป็นเสาหลักพระกรรมฐาน

ท่านยังเป็นเสาหลักพระกรรมฐานในเขตภาคอีสาน และภาคอื่น ๆ ซึ่งพอถึงวันสำคัญทางพระพุทธศาสนา เช่น วันมาฆบูชา วันวิสาขบูชา วันอาสาฬหบูชา วันเข้าพรรษา วันออกพรรษา เป็นต้น คณะลูกศิษย์ทั้งพระและฆราวาสนั้นจะมาจากที่ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นในเขตจังหวัดสกลนคร, นครพนม, มุกดาหาร, อุดรธานี, เลย, บุรีรัมย์, ศรีสะเกษ, สุรินทร์ ฯลฯ จะพากันมาลงอุโบสถสามัคคีกันที่วัดดอยธรรมเจดีย์ และรับฟังธรรมโอวาท คติเตือนใจ รวมทั้งข้อธรรมอื่นๆ ในด้านการปฏิบัติจิตตภาวนาจากหลวงพ่อแบน ธนากโร และท่านก็จะให้กำลังจิตกำลังใจ ไม่ให้ท้อถอย ให้ต่อสู้กับสิ่งที่ไม่ดีทั้งหลาย คือกิเลส ให้ยึดมั่นในหลักพระธรรมวินัย รวมทั้งให้พากันตั้งอกตั้งใจรักษาข้อวัตรปฏิบัติ และปฏิปทาที่ครูบาอาจารย์พระกรรมฐานสายหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต ท่านพาดำเนินมา

สร้างโรงพยาบาล

หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านได้เมตตาสงเคราะห์คนหมู่มาก ทั้งพระและฆราวาส อย่างหาประมาณมิได้ องค์ท่านได้เมตตาสร้างตึกร่มฟ้า ให้แก่โรงพยาบาลจังหวัดสกลนคร พร้อมทั้งถวายพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ และสร้างตึกร่มฉัตร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศล แด่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ซึ่งตึกทั้งสองหลังนี้ เป็นตึกห้องพิเศษ วีไอพี มีอุปกรณ์ทันสมัยครบครันสมบูรณ์แบบ เมื่อปี พ.ศ. ๒๕๔๘ องค์ท่านได้สร้าง ‘โรงพยาบาลพระอาจารย์แบน ธนากโร’ ที่อำเภอภูพาน จังหวัดสกลนคร เพื่อถวายเป็นพระราชกุศลแด่สมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ฯ พระบรมราชินีนาถ เนื่องในวาระที่ทรงเจริญพระชนมายุครบ ๕ รอบ ๖๐ พรรษา

สร้างสำนักปฏิบัติธรรม

หลวงพ่อแบน ธนากโร นอกจากองค์ท่านจะเมตตาสงเคราะห์แก่ประชาชนทั่วไปแล้ว ท่านยังได้เมตตาสร้างวัดเพื่อเป็นสำนักปฏิบัติธรรมกรรมฐานเจริญรอยตามพระบูรพาจารย์ มีหลวงปู่มั่น ภูริทตฺโต และหลวงปู่กงมา จิรปุญฺโญ เป็นอาทิ ให้พระภิกษุสามเณรได้มีที่อยู่ศึกษาข้อวัตร ปฏิบัติธรรม เพื่อรักษาป่าไม้ ต้นน้ำลำธาร รักษาสัตว์ป่า และรักษาธรรมชาติเอาไว้ ซึ่งนับวันจะถูกบุคคลต่างๆ ทำลายลงไป

วัดที่องค์ท่านได้เมตตาสร้างนั้นมีอยู่หลายแห่งด้วยกัน ดังนี้

๑. วัดป่าภูผาผึ้ง ตำบลกกตูม อำเภอดงหลวง จังหวัดมุกดาหาร

๒. วัดป่าค้อน้อย บ้านค้อน้อย ตำบลค้อใหญ่ อำเภอกุดบาก จังหวัดสกลนคร

๓. วัดป่าวังเพิ่ม-พระภาวนา ตำบลพญาเย็น อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี

๔. วัดที่ท่านสร้างขึ้นใหม่ อำเภอท่าใหม่ จังหวัดจันทบุรี

ปัจจุบันนี้ หลวงพ่อแบน ธนากโร ท่านได้พำนักอยู่ที่วัดดอยธรรมเจดีย์ ตำบลตองโขบ อำเภอโคกศรีสุพรรณ จังหวัดสกลนคร หรือในบางครั้งท่านก็จะไปพักสั่งสอนศีลธรรมอยู่ที่วัดป่าวังเพิ่ม-พระภาวนา อำเภอมวกเหล็ก จังหวัดสระบุรี และวัดที่ท่านสร้างขึ้นใหม่ในจังหวัดจันทบุรี

แหล่งที่มา : http://www.dhammajak.net/board/viewtopic.php?t=9267

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น