ท่องเที่ยว | เที่ยวอีสานและภาคอื่น

ตำนานพระหลุบเหล็กและพระเจ้าองค์หลวงแห่งวัดศรีมงคลใต้ จังหวัดมุกดาหาร

ท่อนไม้หนักควักเป็นโพรงเอิ้น "เอิ้นโปงไม้" กระทุ้งให้เกอิดเสียงก้องฮ้องขานไข
จากวัดสู่บ้านเป็นสัญญาณคนเข้าใจ ฮักษาไว้ของบูฮานฮีสานเฮา

วัดศรีมงคลใต้ ตำบลในเมือง อำเภอเมืองมุกดาหาร จังหวัดมุกดาหาร

ความเป็นมา

ตั้งวัดเมื่อ พ.ศ. ๒๒๘๕ อยู่ติดถนนสำราญชายโขงใกล้ด่านตรวจคนเข้าเมืองจังหวัดมุกดาหาร หน้าวัดมีตลาดอินโดจีนเป็นแหล่งทำมาค้าขายของผู้คนสองฟากฝั่งแม่น้ำ วัดได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อ พ.ศ. ๒๓๓๑ ได้รับการสถาปนาขึ้นเป็นพระอารามหลวงชั้นตรีชนิดสามัญ ในโอกาสพระราชพิธีมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษา ๖ รอบ เมื่อ ๕ ธันวาคม พุทธศักราช ๒๕๔๒ วัดศรีมงคลใต้มีเนื้อที่เพียง ๔ ไร่เศษเป็นวัดเก่าแก่วัดหนึ่ง วัดศรีมงคลใต้ มีประวัติเล่าว่า เมื่อกรุงศรีอยุธยาเสียแก่พม่าครั้งที่ ๒ ผู้คนได้พากันทิ้งถิ่นฐานอพยพครอบครัวลงมาหาที่สร้างบ้านเมืองใหม่ เจ้าจันทสุริวงศ์ได้พาผู้คนไปตั้งถิ่นฐานที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำโขงที่บ้านโพนสิม บริเวณพระธาตุอิงฮัง ปัจจุบันอยู่ในแขวงสะหวันนะเขต ประเทศลาว ต่อมาโอรสคือท้าวกินนรีพาชาวบ้านมาสร้างเมืองที่ปากห้วยมุกฝั่งตรงข้ามกับสะหวันนะเขตได้พบพระพุทธรูป ๒ องค์ อยู่ใต้ต้นโพธิ์ริมฝั่งโขงบริเวณวัดร้างใกล้ตาลเจ็ดยอด พระพุทธรูป ๒ องค์ที่พบนั้นองค์ใหญ่สร้างด้วยสัมฤทธิ์ศิลปะตระกูลพระไชยเชษฐาธิราชแห่งล้านช้าง ส่วนองค์เล็กเป็นเหล็กผสม ท้าวกินนรีได้อัญเชิญพระพุทธรูปทั้ง ๒ องค์ ขึ้นประดิษฐานในพระวิหาร พระพุทธรูปองค์ใหญ่เรียกกันว่า พระเจ้าองค์หลวง

         พระเจ้าองค์หลวงเป็นพระประธานปางมารวิชัยหน้าตักกว้าง ๒ เมตร ๒๐ เซนติเมตร ความสูงจากฐาน ๓ เมตร ส่วนพระพุทธรูปองค์เล็กนั้นกลับปาฏิหาริย์ไปอยู่ใต้ต้นโพธิ์ดังเดิม เป็นเช่นนี้อยู่หลายครั้งทางวัดจึงได้สร้างแท่นบูชาไว้ ต่อมาตลิ่งริมแม่น้ำทรุดตัวลงพระเหล็กก็ทรุดจมลงจนเห็นแต่ส่วนพระเมาลี ชาวบ้านจึงสร้างแท่นหินครอบพระเกศนั้นไว้ เรียกกันว่า พระหลุบเหล็ก ภายหลังได้ถูกน้ำเซาะหายไปเหลือแต่แท่นหินเท่านั้น ปัจจุบันแท่นหินตั้งอยู่ตรงทางขึ้นพระวิหาร

พระวิหารมีขนาดกว้าง ๑๒ เมตร ยาว ๑๘ เมตร ก่ออิฐถือปูนหลังคามุงกระเบื้องซ้อน ๒ ชั้น มีแนวเสากลมขนาดใหญ่เรียงเป็นแถวรับหลังคา รูปแบบการก่อสร้างแฝงความยิ่งใหญ่มั่นคงเหมือนอาคารที่สร้างในเมืองหลวง ไม่ใช่รูปแบบที่นิยมในท้องถิ่นน่าจะได้รับการบูรณะโดยเสนาบดีคนสำคัญยุคต่อมา หน้าบรรณลายเทพนมประกอบลายกนกสีทองบนพื้นสีแดงลักษณะที่นิยมสร้างสมัยเปลี่ยนแปลงการเปลี่ยนแปลงการปกครองของไทย

พระอุโบสถหรือโบสถ์น้อยมีขนาดเล็กอยู่ถัดไปด้านหลังใกล้เขตสังฆาวาส แต่น่าแปลกที่โบสถ์หันหลังออกแม่น้ำ จึงไม่แน่ใจว่าแต่ก่อนเคยมีลำน้ำหรือทางสัญจรอื่นอีกหรือไม่ การก่อสร้างเป็นอาคารก่ออิฐถือปูน กว้าง ๕ เมตร ยาว ๘ เมตร หลังคามุงกระเบื้องมีช่อฟ้าใบระกา นาคสะดุ้งรูปทรงแบบพื้นบ้านอีสานคือมีผนังด้านหลังพระประธานเพียงด้านเดียว นอกนั้นเปิดโล่งแบบศาลาหน้าบรรณแต่งลายปูนปั้นเป็นพระพุทธรูปทรงสมาธิ บันไดทางขึ้นโบสถ์น้อยมี ๒ ด้านปั้นปูนเป็นรูปสัตว์ป่าหิมพานต์ซึ่งไม่พบในที่อื่น

วัดศรีมงคลใต้อยู่ในทำเลที่เป็นหน้าด่านของมุกดาหารเป็นประหนึ่งปากประตูทางออก ของประเทศกลุ่มอินโดจีน คือ ไทย ลาว จีน เวียดนาม กัมพูชาและพม่ารวม ๖ กลุ่มประเทศ มุกดาหารจึงเป็นประดุจอัญมณีเม็ดงามริมฝั่งโขง โดยเฉพาะวัดศรีมงคลใต้เป็นจุดแรกที่ประกาศความเป็นเมืองพุทธในริมน้ำแถบนี้ เป็นวัดที่มีประวัติยาวนานมีความสำคัญและน่าเยี่ยมชม

แชร์ไปที่

Facebook
Twitter
Email

Similar Posts

ใส่ความเห็น

อีเมลของคุณจะไม่แสดงให้คนอื่นเห็น